มาทำความเข้าใจ การเอกซเรย์และประเภทของการเอกซเรย์ฟัน

มาทำความเข้าใจ การเอกซเรย์และประเภทของการเอกซเรย์ฟัน

ในการวินิจฉัยโรคที่เกิดขึ้นกับฟันนั้นสามารถทำได้หลายวิธี แต่ที่จะทำให้ทันตแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้ง่ายขึ้นในจุดที่ไม่สามารถมองได้เห็นแค่เพียงอ้าปากดู นั่นคือ การเอกซเรย์ ซึ่งการเอกซเรย์ก็มีมากมายหลายแบบขึ้นอยู่กับกรณีในการรักษาด้วยค่ะ ดังนั้น เราจะไปทำความเข้าใจการเอกซเรย์ฟัน รวมถึงประเภทของการเอกซเรย์ฟัน ตามไปดูกันค่ะ

เอกซเรย์ฟัน คืออะไร?


เอกซเรย์หรือการถ่ายภาพรังสี เป็นขั้นตอนในการวางแผนรักษาฟัน  โดยรังสีเอกซ์เป็นพลังงานชนิดหนึ่งที่สามารถไหลผ่านเนื้อเยื่ออ่อนและดูดซึมโดยเนื้อเยื่อชนิดแน่นทึบ ฟันและกระดูกเป็นเนื้อเยื่อที่มีความแน่นทึบสูง จึงดูดซึมรังสีเอกซ์ได้ยาก ส่วนเหงือกและแก้มเป็นเนื้อเยื่ออ่อน รังสีเอกซ์จะเดินทางผ่านได้ง่ายกว่า

ทำไมต้องเอกซเรย์ฟัน


จุดประสงค์หลักของการเอกซเรย์ฟัน คือ เพื่อใช้ในการวางแผนรักษาฟัน ถึงแม้จะเน้นการวินิจฉัยเป็นหลัก แต่ก็ยังสามารถนำมาใช้ในการป้องกันโรคได้เช่นกัน เนื่องจากช่วยให้ทันตแพทย์สามารถวินิจฉัยปัญหาสุขภาพช่องปากได้ทันท่วงที ก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต อีกทั้งยังช่วยให้มองเห็นในจุดที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ประเภทของการเอกซเรย์ฟัน


ในการวินิจฉัยโรคแต่ละโรคนั้น การเอกซเรย์ในงานทันตกรรมมีมากมายหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับกรณีการรักษาประเภทต่าง ๆ โดยประเภทของการเอกซเรย์ที่พบได้บ่อยในคลินิกทันตกรรม แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้

1. การเอกซเรย์นอกช่องปาก (Extra Oral radiography and Tomography)


1.1. Panoramic (ภาพรังสีปริทัศน์)


เป็นเอกซเรย์แบบต่อเนื่องจากข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลโดยทั่วไปพัฒนาการของฟัน รวมถึงวิเคราะห์ลักษณะความปกติหรือผิดปกติ การมีอยู่และสภาพบริเวณฟัน รากฟัน กระดูกขากรรไกร รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเอียงตัวของตัวฟันและรากฟัน ข้อดีคือสามารถแสดงภาพส่วนต่าง ๆ ในขากรรไกรบนและล่างในฟิล์มแผ่นเดียว ใช้ถ่ายแทนการเอกซเรย์ในช่องปากกรณีที่ไม่สามารถวางฟิล์มในช่องปากได้ เช่น ผู้ป่วยอาจจะอาเจียนง่าย สำรวจสภาพขากรรไกรคร่าว ๆ เช่น ฟันเกิน ซึ่งผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บ สะดวกและรวดเร็ว การเอกซเรย์ชนิดนี้พบได้บ่อยในทันตกรรมด้านการจัดฟัน

 1.2 Lateral Cephalometric


เป็นอีกหนึ่งชนิดที่ใช้กันมากในการจัดฟัน ใช้เพื่อดูพัฒนาการของฟันและกะโหลกศีรษะ วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของเนื้อเยื่ออ่อนและกะโหลกศีรษะ รวมถึงดูความเปลี่ยนแปลงของฟันและกะโหลกศีรษะเนื่องมาจากการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน อีกทั้งยังเพื่อวิเคราะห์ตำแหน่ง ลักษณะการเอียงตัวของกระดูกขากรรไกร ฟัน เนื้อเยื่ออ่อนใบหน้าและความสัมพันธ์ของโครงสร้างดังกล่าว

2. การเอกซเรย์ในช่องปาก (Intra Oral radiography)


 เป็นการตรวจหาการติดเชื้อหรือการอักเสบรอบ ๆ ปลายรากฟันเพื่อประเมินสภาพของเนื้อเยื่อปริทันต์ เมื่อฟันและกระดูกที่ล้อมรอบรากฟันได้รับความกระทบกระเทือน, เพื่อตรวจหาฟันคุด, ฟันเกินและหาตำแหน่งที่แน่นอนของฟันดังกล่าว

2.1 Bitewing (ภาพรังสีด้านประชิด)

เป็นการตรวจหารอยผุแรกเริ่มทางด้านประชิดของฟัน รวมทั้งรอยผุที่เพิ่งลุกลามเข้าสู่เนื้อฟันด้านบดเคี้ยวที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า รวมถึงเพื่อประเมินขนาดของรอยผุเดิมว่าใหญ่ขึ้นหรือเล็กลง นอกจากนี้การเอกซเรย์ชนิดนี้ยังช่วยหารอยรั่วของวัสดุอุดฟันหรือครอบฟันได้ด้วย

2.2 Periapical (ภาพรังสีรอบปลายราก)


เป็นการแสดงภาพฟันทั้งซี่ตั้งแต่ตัวฟันจนถึงกระดูกที่พยุงฟัน เพื่อประเมินการสร้างรากฟันว่าสมบูรณ์หรือไม่, ประเมินรอยแตกในตัวฟัน รากฟัน ในคนที่เกิดการบาดเจ็บที่ฟัน และติดตามผลระยะยาวของฟันที่ได้รับบาดเจ็บว่ามีความผิดปกติหรือไม่ นอกจากนี้ ยังช่วยประเมินรอยฟันผุลุกลามได้อีกด้วยค่ะ

2.3 Occlusal (ภาพรังสีสบกัด)


            เป็นการแสดงภาพช่องปากอย่างชัดเจนเพื่อดูการสบกันของขากรรไกรบนและขากรรไกรล่าง การเอกซเรย์แบบนี้จะใช้ตรวจพัฒนาการฟันของเด็ก เพื่อดูฟันน้ำนมและฟันแท้
จากข้างต้นเราก็ทราบกันแล้วถึงการเอกซเรย์ฟันประเภทต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับการวินิจฉัยสุขภาพช่องปากซึ่งพบได้บ่อยในคลินิกทันตกรรมทั่วไป และจะดำเนินการโดยทันตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ครั้งต่อไป หากคุณต้องได้รับการวินิจฉัยด้วยการเอกซเรย์ฟัน จะได้ช่วยให้เข้าใจคุณสมบัติต่าง ๆ ได้ดีขึ้นนะคะ

สอบถามเพิ่มเติมและนัดหมายทำฟัน X-Ray ฟัน

โทรศัพท์ 02-0665455 , 092-5187829
Line id: @bpdc หรือ bpdc.dental
https://bpdcdental.com/
ที่อยู่ : คลินิกทันตกรรม BPDC ถนนกิ่งแก้ว บางพลี สมุทรปราการ (มีที่จอดรถใต้ตึก)

#covid19 #คลินิกทันตกรรม #BPDC

Comments are closed.