“รักษารากฟัน” คืออะไร มาทำความเข้าใจก่อนเข้ารับการรักษา

รักษารากฟัน คืออะไร

“รักษารากฟัน” คืออะไร มาทำความเข้าใจก่อนเข้ารับการรักษา

“รักษารากฟัน” คืออะไร มาทำความเข้าใจก่อนเข้ารับการรักษา

รักษารากฟัน คือหนึ่งในวิธีการรักษาปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน ที่เกิดจากสาเหตุเล็กๆ อย่างอาการฟันผุ หรือฟันแตก แล้วผู้ป่วยปล่อยทิ้งไว้ ไม่ทำการรักษาหรืออุดฟัน ทำให้รอยผุของฟันขยายใหญ่ขึ้นและลึกขึ้น รุนแรงจนทะลุไปถึงโพรงประสาทฟัน ส่งผลให้เกิดการอักเสบ บางรายอาจมีฝีที่รากฟัน เป็นหนอง มีอาการปวดทรมาน ที่สำคัญคือเมื่อถึงระยะนี้แล้วเราจะไม่สามารถฟันไว้ได้ด้วยการอุดฟัน แต่ต้องรักษาด้วยการรักษารากฟัน โดยทันตแพทตย์จะทำการกำจัดเนื้อเยื่อมีการติดเชื้อและอักเสบในบริเวณโพรงฟันและคลองรากฟัน รวมไปถึงทำความสะอาดในคลองรากฟันให้ปลอดเชื้อ จากนั้นจึงอุดคลองรากฟันและบูรณะตัวฟันเพื่อให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ

 

ก่อนเอื่น ต้องอธิบายให้เข้าใจกันก่อนว่า “ฟัน” จะมีองค์ประกอบหลัก 3 ส่วนด้วยกันคือ Enamel, Dentin และ Dental pulp

Enamel หรือ ผิวเคลือบฟัน – ส่วนนี้จะอยู่ด้านนอกสุดและเป็นส่วนที่แข็งแรงที่สุดของฟัน

Dentin หรือ เนื้อฟัน – ส่วนที่อยู่ระหว่างผิวเคลือบฟันกับโพรงประสาทฟัน

Dental pulp หรือ โพรงประสาทฟัน – ส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของฟัน โดยจะประกอบไปด้วยเส้นเลือดและเส้นประสาทจำนวนมากเพื่อนำสารอาหารมาหล่อเลี้ยงฟัน หากเคลือบฟันและเนื้อฟันถูกทำลายจนถึงชั้นโพรงประสาทฟัน ก็จะทำให้เกิดอาการปวดฟันได้

 

สาเหตุที่ต้องได้รับการรักษารากฟัน

  1. ฟันผุลึกมากจนทะลุโพรงประสาทฟัน
  2. ฟันแตกหัก หรือสึกจนทะลุโพรงประสาทฟัน
  3. ฟันได้รับการแรงกระแทกจากอุบัติเหตุจนทำให้ฟันแตกหัก จนถึงโพรงประสาทฟัน
  4. ผู้ที่มีปัญหาโรคเหงือก
  5. ผู้ที่นอนกัดฟันรุนแรง หรือ มีพฤติกรรมการบดเคี้ยวที่ค่อนข้างรุนแรง

 

อาการ

ลักษณธอาการของซี่ฟันที่ต้องได้รับการรักษารากฟันนั้น สักเกตจากอาการต่อไปนี้

  1. มีอาการปวดฟันแบบเป็นๆหายๆ หรือปวดรุนแรงจนนอนไม่หลับ
  2. มีอาการเสียวฟันมากเวลาดื่มของร้อนหรือเย็น
  3. มีอาการเจ็บฟันเวลาเคี้ยวอาหาร
  4. มีอาการเหงือกบวม มีตุ่มหนอง หรือมีอาการบวมบริเวณใบหน้า
  5. ฟันเปลี่ยนสี มีสีคล้ำ

 

ขั้นตอนการรักษารากฟัน

  1. การเตรียมตัว

ขั้นตอนแรกทันตแพทย์จะทำการเอกซเรย์ฟันซี่ที่มีปัญหา เพื่อวางแผนการรักษา โดยภาพเอกซเรย์ฟันจะทำให้เห็นความเสียหายของรากฟัน และยังสามารถตรวจสอบว่ามีการติดเชื้อรอบๆ กระดูกบริเวณดังกล่าวหรือไม่

  1. กำจัดเนื้อฟันที่อักเสบหรือติดเชื้อออก

ทันตแพทย์จะเริ่มขั้นตอนการรักษา ด้วยการใส่ยาชา ใส่แผ่นยางกันน้ำลาย จากนั้นกรอฟันเพื่อเปิดทางขยายโพรงประสาทฟัน และทำการกำจัดเนื้อเยื่อที่มีการติดเชื้อออกด้วยเครื่องมือที่มีขนาดเล็ก และใส่ยาฆ่าเชื้อ ลงไปในคลองรากฟัน

  1. ปิดรากฟันด้วยวัสดุอุดชั่วคราว

อุดคลองรากฟันเพื่อปิดช่องว่างไม่ให้เชื้อโรคกลับเข้ามา เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ โดยปกติจะใช้เวลาการรักษาประมาณ 2-3 ครั้งขึ้นอยู่กับความยากง่ายและสภาพการติดเชื้อของฟันแต่ละซี่

  1. อุดปิดคลองรากฟันถาวร

ทันตแพทย์จะอุดปิดคลองรากฟันถาวร เมื่อไม่มีการอักเสบของรากฟันแล้ว

  1. บูรณะตัวฟัน

การบูรณะตัวฟันเพื่อให้ใช้งานได้ตามปกตินั้นสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การอุดฟัน, การใส่เดือยฟัน, การครอบฟัน ทั้งนี้ทันตแพทย์จะพิจารณาจากสภาพเนื้อฟันที่เหลืออยู่

 

ระหว่างการรักษา

ช่วงระหว่างการรักษา ผู้ป่วยไม่ควรใช้ฟันซี่ที่รักษาอยู่กัดหรือเคี้ยวอาหารแข็ง เพราะอาจทำให้ฟันแตกหรือหักได้ รวมทั้งอาจพบอาการปวดได้ในช่วง 1-3 วันแรก โดยผู้ป่วยสามารถรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หากอาการไม่ดีขึ้นให้กลับมาพบทันตแพทย์ทันที


การดูแลหลังจากการรักษารากฟัน

การดูแลหลังจากการรักษารากฟันนั้น สามารถดูแลได้เหมือนฟันปกติ โดยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันหลังมื้ออาหาร และก่อนนอน รวมทั้งเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน

 

นอกเหนือจากการรักษารากฟันแล้วนั้น ยังมีวิธีรักษาอีกวิธีสำหรับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในโพรงประสาทฟัน นั่นก็คือ “การถอนฟัน” แต่การถอนฟันนั้น จะทำให้เราเสียฟันแท้ไป อีกทั้งยังเสี่ยงกับปัญหาช่องว่างระหว่างฟันที่จะทำให้เกิดฟันล้มได้อีกด้วย ดังนั้น หากฟันยังอยู่ในระยะที่สามารรถรักษารากฟันได้ ทันตแพทย์ก็จะแนะนำให้รักษาด้วยวิธีนี้ เพื่อรักษาฟันแท้ของคุณไว้ให้ได้นานที่สุด