ฟันล้ม..แก้ไขอย่างไรให้ฟันกลับมาเรียงสวยเหมือนเดิม
“ฟันล้ม” อีกหนึ่งปัญหาในช่องปากที่สร้างความกังวลใจให้กับหลายคนอยู่ไม่น้อย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนที่จัดฟันเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป ซึ่งภาวะฟันล้มนี้มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยเสี่ยง และสามารถนำไปสู่การขึ้นของฟันที่ผิดปกติจนทำให้เกิดเป็นปัญหาเรื้อรังตามมาในอนาคตได้ ฟันล้มมีที่มาจากอะไร แล้วมีวิธีไหนที่จะทำให้ฟันกลับมาเรียงสวยได้บ้าง เราจะมาทำความเข้าใจและรับมือกับภาวะดังกล่าวนี้ด้วยกัน
ลักษณะของฟันล้ม
ก่อนอื่นให้เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า โดยปกติฟันของคนเราจะมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา แต่จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ในกรณีของการเกิดฟันล้มนั้น เป็นลักษณะของการที่ฟันเคลื่อนที่หรือเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งเพื่อหาความสมดุลหรือเพื่อยึดเกาะฟันซี่ที่อยู่ใกล้เคียงตามกลไกธรรมชาติ หรือที่เรารู้กันดีในชื่อของ “ฟันเก”นั่นเอง ส่วนใหญ่มักเป็นฟันซี่ที่อยู่ใกล้ๆฟันที่ถูกถอนไปจนทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟัน และอาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาได้ เช่น ไม่สามารถบดเคี้ยวอาหารตามแนวแกนของฟัน มีปัญหาเกี่ยวกับการสบฟัน หรืออาจถึงขั้นลุกลามจนกลายเป็นโรคเหงือกอักเสบตามมาได้
สาเหตุของการเกิดฟันล้ม
“ฟันล้ม” “ฟันเก” หรือ “ฟันเอียง” สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- มีการถอนฟันแท้ออก แล้วไม่ได้ใส่ฟันปลอม ทำให้ฟันที่มีอยู่เอียงหรือล้ม
- ในกรณีที่มีการจัดฟัน หลังจากที่ถอดเครื่องมือจัดฟันออก แล้วไม่ได้ใส่รีเทนเนอร์หรือเครื่องมือกันฟันล้ม
- มีความผิดปกติของขากรรไกรหรือสุขภาพฟันตั้งแต่กำเนิด รวมถึงการสบฟันที่ผิดปกติ
- เหงือกร่น หรือกระดูกรองรับรากฟันละลายตัว
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น
- เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงที่เอื้อให้เกิดฟันล้ม เช่น การนอนกัดฟัน การใช้ลิ้นดันฟัน เป็นต้น
ผลเสียจากการปล่อยให้ฟันล้ม
ฟันล้ม ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพปากและฟันดังต่อไปนี้
- ทำให้มีเศษอาหารติดบริเวณช่องว่างระหว่างฟันได้ง่ายขึ้น
- นำไปสู่การเกิดฟันผุและโรคปริทันต์
- ทำให้เคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด ส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร
- กรณีที่ฟันล้มมาก ทำให้ไม่สามารถใส่ฟันปลอมได้
- ขาดความมั่นใจในการพูดหรือการยิ้ม
วิธีรักษาฟันล้ม
ในการรักษาฟันล้ม ฟันเอียง ควรรีบมารักษาทันทีที่มีอาการ เพราะหากปล่อยเอาไว้นาน อาจจะบานปลายและรักษาได้ยาก ซึ่งวิธีการรักษาที่เป็นที่นิยม มีดังต่อไปนี้
- ใส่รีเทนเนอร์
การใส่รีเทนเนอร์หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “เครื่องมือคงสภาพฟัน” หรือ “เครื่องมือกันฟันล้ม” เป็นการช่วยไม่ให้ฟันล้มมากไปกว่าเดิม แต่มีข้อจำกัดคือจำเป็นต้องใส่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ฟันกลับมาล้มในตำแหน่งเดิมอีก - ใส่ฟันปลอม
การใส่ฟันปลอมทดแทน เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการปิดช่องว่างระหว่างฟันเพื่อป้องกันการเคลื่อนที่และการล้มเอียงของฟัน ซึ่งฟันปลอม มีทั้งแบบถาวรและแบบชั่วคราว สามารถเลือกได้ตามความสะดวก ความเหมาะสมและง่ายต่อการใช้งาน โดยฟันปลอมทดแทนที่มีประสิทธิภาพสูงและได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายคือการทำรากฟันเทียมเพื่อการรักษาในระยะยาว - การจัดฟัน
การจัดฟันเป็นการใช้เหล็กหรือลวดดึงฟันให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมหรือกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิม เป็นวิธีการรักษาที่สามารถแก้ไขปัญหาฟันล้ม ฟันเอียง ฟันเคลื่อนหรือฟันเก ได้ดีเช่นกัน โดยปัจจุบันได้มีการจัดฟันในหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น การจัดฟันแบบโลหะ การจัดฟันเซรามิก การจัดฟันแบบดามอน หรือการจัดฟันแบบใส(invisalign) เป็นต้น
วิธีป้องกันฟันล้ม
สำหรับใครที่อยากมีฟันเรียงสวย ไม่ล้ม ไม่เก ไม่เอียง และถ้าหากไม่อยากเสียเวลาและเสียเงินในการรักษาสามารถป้องกันได้ ดังต่อไปนี้
- หมั่นทำความสะอาดช่องปากอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งหรือทุกครั้งหลังอาหาร เพราะการดูแลสุขภาพปากและฟันเป็นการป้องกันปัญหาในช่องปากเบื้องต้น เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดฟันผุและนำมาซึ่งปัญหาฟันล้มเอียงตามมา โดยสามารถใช้ผลิตภัณฑ์หรืออุปกรณ์ทำความสะอาดฟันอย่างอื่นควบคู่ด้วยได้ ไม่ว่าจะเป็น ไหมขัดฟัน หรือน้ำยาบ้วนปาก
- ใส่รีเทนเนอร์เป็นประจำและต่อเนื่อง โดยเฉพาะคนที่จัดฟัน เพราะหลังจากที่ถอดเครื่องมือจัดฟันออกแล้ว นั่นหมายถึงฟันของเรามีความเสี่ยงที่จะล้มได้ ดังนั้นจำเป็นต้องใส่เครื่องมือกันฟันล้มเพื่อจะได้ไม่ต้องรักษาใหม่หลายรอบ
- หมั่นตรวจสุขภาพฟันทุกๆ 6 เดือน เพื่อจะได้ทราบถึงความปกติหรือปัญหาที่เกิดกับฟัน และจะได้รักษาอย่างทันท่วงที
“ฟันล้ม” สามารถป้องกันได้แต่เนิ่นๆ โดยการกลับไปสู่การดูแลสุขภาพปากและฟันแบบเบื้องต้น หมั่นตรวจสอบถึงความผิดปกติในช่องปากอยู่เสมอและเมื่อพบปัญหาอย่าลังเลที่จะเข้าพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป
สอบถามเพิ่มเติมและตรวจสุขภาพฟัน
โทรศัพท์ 02-0665455 , 092-5187829
Line id: @bpdc หรือ bpdc.dental
https://bpdcdental.com/
ที่อยู่ : คลินิกทันตกรรม BPDC ถนนกิ่งแก้ว บางพลี สมุทรปราการ (มีที่จอดรถใต้ตึก)
#ทันตกรรม #ตรวจสุขภาพฟัน #คลินิกทันตกรรม #ฟันล้ม