แก้ปัญหากรามค้างอย่างไร

แก้ปัญหากรามค้างอย่างไรให้ถูกต้อง ถูกวิธี

แก้ปัญหากรามค้างอย่างไรให้ถูกต้อง ถูกวิธี

เคยประสบปัญหาเช่นนี้กันบ้างไหมคะ? รับประทานอาหารอยู่ดีๆ กำลังอ้าปากหาวเพราะกำลังง่วงนอนเต็มที่ หรือกำลังสนทนาพุดคุยกับเพื่อนอย่างเมามัน แล้วอยู่ๆปากที่เคยใช้งานได้ดี ไม่สามารถหุบลงมาได้..ถ้าคุณกำลังมีอาการในลักษณะนี้ เป็นไปได้ว่ากำลังเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า “กร้ามค้าง” ซึ่งอาการนี้เกิดจากความผิดปกติของขากรรไกร ทำให้มีการอ้าปากได้น้อยกว่าปกติ อ้าปากแล้วหุบลงไม่ได้หรือในบางรายอาจมีอาการปวดร่วมด้วย ซึ่งแน่นอนว่าได้ส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับอาการกรามค้างนี้ด้วยกัน พร้อมวิธีรักษาและป้องกันไม่ให้อาการนี้กระทบต่อการดำเนินชีวิตมากจนเกินไป

อาการกรามค้างคืออะไร

อาการ “กรามค้าง” ในทางการแพทย์เรียกลักษณะอาการเช่นนี้ว่า “ขากรรไกรค้าง” หรือ “อ้าปากค้าง” ซึ่งเกิดจากภาวะข้อต่อขากรรไกรทำงานผิดปกติ โดยสามารถทำให้เกิดอาการต่างๆดังต่อไปนี้

  • มีอาการปวดบริเวณขากรรไกรด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองข้าง รวมถึงปวดบริเวณรอบๆหูหรือใบหน้า
  • มีอาการเจ็บบริเวณขากรรไกรในขณะที่กำลังเคี้ยวอาหาร ทำให้เคี้ยวอาหารได้ลำบาก
  • มีเสียงดังบริเวณขากรรไกรเมื่ออ้าปากหรือเคี้ยวอาหาร
  • อ้าปากแล้วหุบลงไม่ได้หรืออ้าปากได้น้อยกว่าปกติ

สาเหตุของอาการกร้ามค้าง

ในปกติทั่วไป ขากรรไกรจะเคลื่อนที่แบบบานพับร่วมกับแบบเลื่อน โดยจะมีกระดูกอ่อนห่อหุ้มกระดูกในส่วนที่สัมผัสกันและมีหมอนรองกระดูกมารองรับแรงกระแทก ทำงานประสานกัน ทำให้ข้อต่อขากรรไกรสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างลื่นไหล แต่กรณีที่เกิดอาการกรามค้าง อาจมีสาเหตุมาจาก

  • หมอนรองกระดูกเกิดการสึกกร่อนหรือเคลื่อนออกนอกตำแหน่งเดิม
  • กระดูกอ่อนที่หุ้มข้อต่อได้รับความเสียหายจากโรคข้ออักเสบ
  • ข้อต่อเสียหายจากการกระแทกอย่างรุนแรง
  • การสบฟันที่ผิดปกติ (Malocclusion) หรือเป็นปัญหาเกี่ยวกับการบดเคี้ยว เช่น การสูญเสียฟันกราม เป็นต้น
  • เกิดจากการกัดหรือเค้นฟันอย่างรุนแรงเป็นเวลานาน

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการกรามค้าง

มีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งเสริมให้เกิดอาการกรามค้างได้หลายประการ ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตรวมถึงโรคบางชนิดที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการกรามค้างได้ด้วย ดังนี้

  • โรคข้ออักเสบชนิดต่าง ๆ เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น
  • ขากรรไกรบาดเจ็บจากการถูกกระแทกอย่างรุนแรง
  • พฤติกรรมการเคี้ยวอาหารข้างเดียว ส่งผลให้กล้ามเนื้อและข้อต่อขากรรไกรทำงานไม่สมดุลกัน
  • การรับประทานอาหารที่แข็งและมีความเหนียวอยู่บ่อยๆ
  • ความเครียด ที่ส่งผลให้หลายคนนอนกัดฟันอยู่เป็นประจำ
  • โรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue disease) บางชนิดที่อาจส่งผลต่อข้อต่อขากรรไกร

การรักษาอาการกรามค้าง

อาการกรามค้างเกิดขึ้นได้ในระดับที่เป็นปกติธรรมดา ซึ่งสามารถหายไปเองได้โดยไม่ต้องรักษา หรือในบางกรณีอาจจะมีความรุนแรงมากขึ้น ในส่วนนี้อาจจะต้องเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาในลำดับต่อไป แต่ในเบื้องต้น สามารถใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังต่อไปนี้

  • ยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบ ประเภท ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน (naproxen) เป็นต้น
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle relaxants) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด และลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ
  • ยาคลายกังวล (Tricyclic antidepressant) เช่น อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) เพื่อบรรเทาอาการปวด อาการนอนไม่หลับ พร้อมทั้งช่วยควบคุมอาการนอนกัดฟันได้ด้วย

แต่เมื่ออาการกรามค้างในผู้ป่วยบางรายมีความรุนแรงมากขึ้น แพทย์อาจจะต้องพิจารณาใช้การรักษาแบบผ่าตัดร่วมด้วย เช่น

  • การเจาะข้อต่อขากรรไกร (Arthrocentesis) โดยการใช้เข็มขนาดเล็กสอดเข้าไปในข้อต่อขากรรไกร เพื่อช่วยระบายสิ่งสกปรกและของเหลวภายในข้อต่อให้ออกไป
  • การฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เข้าไปในข้อต่อเพื่อช่วยลดการอักเสบ และฉีดโบทูลินัมท็อกซินชนิดเอ (Botulinum toxin type A) เข้าไปในกล้ามเนื้อบดเคี้ยวเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด
  • การผ่าตัดข้อต่อขากรรไกรแบบส่องกล้อง โดยการสอดกล้องขนาดเล็กและอุปกรณ์ผ่าตัดเข้าไปเพื่อกำจัดเนื้อเยื่อในส่วนที่อักเสบและปรับข้อต่อให้กลับมาในสภาพที่ปกติ
  • การผ่าตัดเปิดข้อต่อขากรรไกร เพื่อทำการรักษาหรือเปลี่ยนข้อต่อขากรรไกรที่ผิดปกติหรือเสียหายอย่างรุนแรงให้กลับมาทำงานได้เช่นเคย

การดูแลตนเองเพื่อลดปัญหากรามค้าง

ส่วนสำคัญที่มีส่วนช่วยได้เป็นอย่างมากในการจัดการกับปัญหากรามค้างคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานของระบบภายในช่องปาก พร้อมทั้งการบริหารบริเวณขากรรไกรร่วมด้วย ดังต่อไปนี้

  • เมื่อมีอาการปวดบริเวณขากรรไกร ควรลดปริมาณการใช้งานในบริเวณนั้น เช่น เลี่ยงการพูดมากจนเกินไป หรือการร้องเพลง เป็นต้น
  • ให้รับประทานอาหารประเภทที่อ่อน นิ่ม หลีกเลี่ยงอาหารที่แข็งหรือเหนียว
  • เลี่ยงการอ้าปากกว้าง เมื่อรับประทานอาหารแนะนำว่าให้ตักคำเล็กๆพอดีคำ
  • หมั่นบริหารขากรรไกรเพื่อคลายกล้ามเนื้อบดเคี้ยวและใบหน้า วิธีการคือให้แตะปลายลิ้นไว้ที่บริเวณเหงือกหลังฟันหน้าบน จากนั้นให้อ้าปากกว้างที่สุด ค้างไว้ประมาณ 5- 6 วินาที ทำซ้ำ 6 ครั้ง วันละ 6 รอบ
  • หากผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาทางทันตกรรม ก่อนเริ่มรักษา ควรมีการแจ้งประวัติกรามค้างทันตแพทย์ทราบทุกครั้ง

อาการ “กรามค้าง” สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย เนื่องจากความผิดปกติจากการใช้งานบริเวณขากรรไกร ซึ่งสามารถรักษาได้ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อป้องกันอาการดังกล่าว ให้เราลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการตักอาหารแต่พอดีคำ การเลี่ยงอาหารที่แข็งหรือเหนียวเพราะนั่นจะทำให้ระบบขากรรไกรทำงานหนักขึ้น และอย่าลืมหมั่นบริหารขากรรไกรของเราอยู่เสมอด้วยนะคะ

สอบถามเพิ่มเติมและตรวจสุขภาพฟัน
โทรศัพท์ 02-0665455 , 092-5187829
Line id: @bpdc หรือ bpdc.dental
https://bpdcdental.com/
ที่อยู่ : คลินิกทันตกรรม BPDC ถนนกิ่งแก้ว บางพลี สมุทรปราการ (มีที่จอดรถใต้ตึก)

#ทันตกรรม #ตรวจสุขภาพฟัน #คลินิกทันตกรรม

Comments are closed.