ฟันคุดไม่ผ่าได้ไหม

ฟันคุดไม่ผ่าได้ไหม? 6 สาเหตุที่ทันตแพทย์แนะให้ถอนฟันคุด

ครั้งหนึ่งในชีวิตของเกือบทุกคน จะต้องเคยผ่านประสบการณ์ผ่าฟันคุดมาก่อน แต่สำหรับใครที่รู้ตัวว่ามีฟันคุด แต่กล้า ๆ กลัว ๆ ไม่รู้ว่าจะผ่าดี ไม่ผ่าดี ต้องอ่านบทความนี้ให้ดี ๆ เลยค่ะ คนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะไม่ผ่าฟันคุด จนกระทั่งเจ็บปวดจนทนไม่ไหวนั่นแหละค่ะ ถึงได้รีบไปหาทันตแพทย์โดยด่วน ใครกำลังปวดฟันคุดยกมือขึ้น คงมีคำถามว่า ไม่ผ่าฟันคุดได้ไหม? มาดูกันค่ะ ว่าเหตุผลอะไรที่ทันตแพทย์ถึงแนะนำให้ผ่าฟันคุด

ฟันคุด คืออะไรกันนะ?

ฟันคุด เหมือนเด็กมีปัญหาค่ะ ที่เขาไม่สามารถโผล่ขึ้นมาได้ตามปกติ บางซี่ก็โผล่มาบางส่วน แต่บางซี่ก็อยู่ข้างใต้โดยมีเหงือกปกคลุมอยู่ พอมันไม่สามารถขึ้นได้เต็มที่ ก็จะไปดันเหงือกจนเราปวดนี่ล่ะค่ะ

ทำไมทันตแพทย์จึงแนะนำให้ผ่าฟันคุด

โดยทั่วไปแล้ว ฟันคุดจะมีหลายรูปแบบด้วยกันค่ะ การรักษาก็แตกต่างกันออก บางซี่ขึ้นเต็มซี่ บางซี่มีเหงือกมาปกคลุม บางซี่ก็ไม่ขึ้นมาเลย แต่พยายามดันตัวเองขึ้นมา ทำให้เรารู้สึกเจ็บ ซึ่งทันตแพทย์ก็มักจะให้ผ่าฟันคุด ซึ่งสาเหตุก็มีดังต่อไปนี้

1. ฟันคุด ทำให้เกิดอาการปวด

แน่นอนค่ะ ถ้าไม่ปวด คงไม่มีใครรีบมาหาหมอฟันแน่นอน สาเหตุก็เพราะฟันคุดมีแรงผลัก เพื่อจะงอกขึ้นมาในขากรรไกร แต่ถูกกัดหรือติดโดยฟันข้างเคียง ทำให้มีแรงย้อนกลับไปกดที่เส้นประสาทของขากรรไกร จึงเกิดอาการปวดขึ้น

2. ฟันคุด ทำให้เกิดฟันผุ

เพราะฟันคุดเป็นแหล่งกักเก็บ สะสมเชื้อโรคชั้นดีเลยล่ะค่ะ ทำความสะอาดได้ยากเพราะอยู่ลึก นอกจากฟันคุดผุแล้ว มักจะส่งผลกระทบให้ฟันข้างเคียงผุตามไปด้วย และหากรักษาไม่ได้ ท้ายที่สุดก็ต้องถอนออก ทำให้เราเสียฟันดี ๆ ไปโดยปริยาย

3. ฟันคุด ทำให้เกิดฟันซ้อนเก

เจ้าฟันคุดที่ขึ้นมาแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ หรือขึ้นมาแบบบางส่วนและพยายามดันตัวเอง ก็ไปดันฟันที่รอบ ๆ ข้าง ทำให้ฟันถูกเบียด ไม่สามารถขึ้นเป็นแนวตามธรรมชาติได้ ผลที่ตามมาก็ทำความสะอาดยาก ฟันขึ้นมาซ้อนกันก็ไม่สวย ไม่มั่นใจ

4. ฟันคุด ทำให้เกิดการติดเชื้อ

อย่างที่บอกไปว่า ฟันคุดเป็นจุดที่สะสมเชื้อโรค ดังนั้นการติดเชื้อจึงเป็นของที่มาคู่กันกับฟันคุดเลยค่ะ โดยการติดเชื้อจากฟันคุดทำให้ขากรรไกรบวม ถ้าเป็นรุนแรง อ้าปากไม่ขึ้น กลืนไม่ได้ ลุกลามลงคอ อาจทำให้หายใจไม่ได้ ถึงขนาดต้องนอนโรงพยาบาลรักษาอย่างเร่งด่วนกันเลย

5. ฟันคุด ทำให้เหงือกอักเสบ

ทั้งฟันที่พยายามดันเหงือกขึ้นมาจนเหงือกเจ็บ รวมถึงเศษอาหารที่ค้างอยู่ใต้เหงือกที่คลุมฟันอยู่นั้น เป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียที่ยากจะทำความสะอาดได้หมด ซึ่งง่ายต่อการเกิดเหงือกอักเสบและบวม ยิ่งหากใครที่ทำความสะอาดได้ไม่ดี ยิ่งมีโอกาสสูงที่จะเกิดอาการเหงือกอักเสบไปพร้อมกับอาการปวดฟันคุด

6. ฟันคุด ทำให้เกิดถุงน้ำ

การที่มีถุงน้ำอยู่ในขากรรไกรก็เหมือนกับลูกโป่งที่จะค่อย ๆ พองใหญ่ขึ้น เบียดกินกระดูกขากรรไกรไปเรื่อย ๆ ถ้าพบและรีบผ่าตัดออกได้เร็ว โอกาสในการสูญเสียอวัยวะขากรรไกรก็น้อย ยังสามารถรักษารูปหน้าให้เหมือนเดิมได้ แต่หากถุงน้ำใหญ่มาก ๆ อาจถึงขนาดต้องตัดขากรรไกรบางส่วนออก การรักษารูปหน้าให้เหมือนเดิมก็ทำได้ยากขึ้น

เห็นไหมล่ะคะว่าฟันคุดไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลยที่จะเก็บไว้ ดังนั้นหากใครที่กำลังโอดโอย ปวดฟันคุดอยู่ แนะนำเลยว่ารีบไปพบทันตแพทย์และรับการรักษาต่อไป

สอบถามเพิ่มเติมและนัดหมาย
โทรศัพท์ 02-0665455 , 092-5187829
Line id: @bpdc หรือ bpdc.dental
https://bpdcdental.com/
ที่อยู่ : คลินิกทันตกรรม BPDC ถนนกิ่งแก้ว บางพลี สมุทรปราการ (มีที่จอดรถใต้ตึก)

#ฟันคุด #ผ่าฟันคุด

Comments are closed.