“ฟันคุด” หนึ่งในปัญหาช่องปากที่เป็นฝันร้ายและสร้างความรำคาญใจให้กับใครหลายคน เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วได้สร้างความเจ็บปวดอย่างมากมายจนวิ่งไปหาหมอฟันแทบไม่ทันกันเลยทีเดียว และสุดท้ายก็จะต้องจบลงด้วยการผ่าออก แท้จริงแล้วฟันคุดคืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไร ถ้าหากปล่อยเอาไว้จะสร้างความเสียหายอย่างไร และจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ต้องผ่าออก วันนี้เรามีเรื่องราวดีๆเกี่ยวกับ “ฟันคุด” มาแบ่งปันกันค่ะ
ฟันคุดคืออะไร
ฟันคุด (Impacted Tooth, Wisdom Tooth) เป็นฟันที่ฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรโดยไม่สามารถขึ้นมาได้ตามปกติในช่องปากเหมือนฟันซี่อื่นๆ ซึ่งอาจจะโผล่ออกมาให้เห็นเพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากฟันคุดขึ้นมาช้ากว่าฟันซี่อื่นจึงทำให้ไม่มีช่องว่างที่จะโผล่ขึ้นมาได้ ซึ่งโดยปกติฟันคุดจะมีทั้งหมด 4 ซี่ด้วยกัน คือในบริเวณด้านในของช่องปากทั้งบนและล่าง เกิดขึ้นได้ทั้งฝั่งซ้ายและขวา สามารถพบได้บ่อยที่บริเวณฟันกรามซี่สุดท้ายซึ่งอยู่ด้านในสุดของกระดูกขากรรไกรล่าง
ฟันคุดเกิดจากอะไร
ปกติแล้วฟันคุดก็คือฟันซี่ที่ควรจะเกิดขึ้นในช่วงอายุประมาณ 16-25 ปี อาจเป็นไปได้ที่จะโผล่ขึ้นมาในลักษณะตั้งตรง เอียงหรือนอนในแนวราบ แต่ฟันคุดคือฟันที่พยายามจะงอกขึ้นมาแต่ไม่สามารถขึ้นมาได้เนื่องจากมีฟันเนื้อเยื่อหรือกระดูกปิดขวางฟันที่กำลังจะขึ้นมานั่นเอง เมื่อฟันคุดพยายามที่จะงอกขึ้นมา ทำให้เกิดแรงผลักดันและเป็นไปได้ว่าจะมีการเบียดฟันซี่ข้างๆ นี่จึงเป็นที่มาของอาการปวดฟันคุดอย่างรุนแรงและสร้างความทรมานให้กับผู้ที่เป็นอย่างมาก
โดยทั่วไป “ฟันคุด” ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ยกเว้นในกรณีที่ตัวฟันโผล่ขึ้นมาเหนือเหงือก จะต้องใช้วิธีการเอกซเรย์จึงจะสามารถมองเห็นได้ อาการที่พบส่วนใหญ่คือรู้สึกเจ็บปวดที่บริเวณฟันคุดมากหรือมีการอักเสบรอบๆเหงือก บางรายแก้มบวม อ้าปากได้น้อย กลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ หรือที่หนักกว่านั้น ในบางรายอาจมีอาการบวมและติดเชื้อ จนลุกลามไปถึงใบหน้า แก้ม และลำคอได้อีกด้วย
ผลกระทบจากฟันคุด
การปล่อยฟันคุดทิ้งเอาไว้นานๆ สามารถทำให้เกิดโทษหรือผลกระทบกับส่วนอื่นๆในช่องปากได้ เช่น
- ฟันคุดทำให้เกิดฟันผุ
เนื่องจากฟันคุดเป็นฟันที่ผิดรูป ทำให้เป็นแหล่งที่กักเก็บเศษอาหารได้เป็นอย่างดี และอาจจะเนื่องด้วยตำแหน่งของฟันคุดที่อยู่ลึกด้านในใกล้ลำคอ ทำให้ยากต่อการทำความสะอาด และเกิดฟันผุขึ้นมาได้และนอกจากนั้นยังสามารถลุกลามไปยังฟันซี่ที่อยู่ข้างๆได้ด้วยเช่นกัน - ฟันคุดทำให้เหงือกอักเสบ
ฟันคุดบางซี่ตัวฟันอาจจะโผล่ออกมาเหนือเหงือกไม่หมด เมื่อเหงือกเข้าไปปกคลุมฟัน อาจทำให้เศษอาหารเข้าไปสะสมอยู่ใต้เหงือก ทำความสะอาดได้ยาก เป็นที่มาของเชื้อแบคทีเรียและทำให้เกิดอาการอักเสบ ปวด บวมและเป็นหนองตามมา ที่ร้ายแรงกว่านั้น ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการกระจายเชื้อโรคไปยังส่วนอื่นๆจนเกิดการติดเชื้อ ลุกลามไปยังช่องคอ ทำให้หายใจไม่ออกได้เช่นกัน - ฟันคุดมีโอกาสทำให้เกิดถุงน้ำ
เมื่อเกิดฟันคุดขึ้น เนื้อเยื่อที่อยู่โดยรอบสามารถพัฒนากลายเป็นถุงน้ำหรือเนื้องอกได้ และที่สำคัญฟันคุดที่มักอยู่ติดกับขากรรไกร มันจะเกิดการดัน และเบียดกระดูกขากรรไกร ส่งผลให้ใบหน้าผิดรูปในอนาคต
จำเป็นต้องผ่าฟันคุดออกหรือไม่
ในการผ่าฟันคุดนั้น แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยโดยพิจารณาจากองค์ประกอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งของฟันคุด ระยะห่างของฟันคุดกับเส้นประสาท รวมถึงอายุของคนไข้ด้วย ซึ่งโดยมาก แพทย์มักแนะนำให้ผ่าฟันคุดออกในทุกกรณี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรมีการขอคำแนะนำจากแพทย์ทุกครั้งซึ่งจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการรักษาตามมา
ลักษณะของฟันคุดที่จำเป็นต้องผ่าออก
ลักษณะของฟันคุดที่มีความจำเป็นต้องผ่า เพราะสร้างปัญหาและผลกระทบในช่องปากระยะยาว มีอยู่ 2 ลักษณะใหญ่ๆ ดังนี้
- ฟันคุดที่มีเหงือกคลุม (soft tissue impaction)
ลักษณะคือตัวของฟันคุดมีลักษณะตั้งตรง แล้วมีเหงือกที่ปกคลุมฟันคุดซี่นั้นเอาไว้ ในกรณีนี้สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าเปิดเหงือกออกร่วมกับการถอนฟันคุด - ฟันคุดที่มีกระดูกคลุม (bony impaction)
ลักษณะอาการในกรณีนี้คือมีทั้งเหงือกและกระดูกที่คลุมฟันคุดเอาไว้ ส่วนลักษณะของฟันคุดก็มีทั้งแบบตั้งตรง เอียง หรือนอน การรักษาสามารถทำได้โดยการกรอกระดูกร่วมกับการแบ่งฟันคุดเป็นส่วนๆ เพื่อนำฟันคุดออกมา
อาการข้างเคียงหลังผ่าฟันคุด
อาการแทรกซ้อนหลังจากการรักษาฟันคุดโดยการผ่านั้นสามารถเกิดขึ้นได้ เช่น มีเลือดออกบริเวณผ่าตัด ปวดแผลผ่าตัด ซึ่งเป็นอาการปกติทั่วไป แต่ถ้าหากมีอาการที่ผิดปกติ กรณีเช่น มีเลือดไหลจากแผลผ่าตัดมากกว่าปกติ บางรายมีไข้ หรือเกิดการติดเชื้อหลังการผ่าตัด และถ้าในกรณีที่อาการปวดบวมไม่ทุเลาลงเลย มีกลิ่นปาก เจ็บแปลบหรือเกิดอาการชาที่ใบหน้า ริมฝีปากหรือลิ้น ให้รีบไปพบทันตแพทย์ทันที
ข้อควรปฏิบัติหลังผ่าฟันคุด
หลังผ่าตัดฟันคุดมีข้อควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
- ห้ามบ้วนเลือดหรือน้ำลายทันทีในวันที่ผ่าตัด เพราะอาจจะทำให้เลือดไหลไม่หยุด แต่ให้กัดผ้าก๊อตประมาณ 1-2 ชั่วโมง จากนั้นให้กลืนน้ำลายตามปกติได้
- ควรประคบน้ำแข็งบริเวณแก้มในช่วง 3-5 วันแรก เพื่อลดอาการบวม
- หลังจากที่ผ่าตัดอาจจะมีอาการตึงๆบริเวณแก้มในด้านที่ผ่าตัด ให้บริหารกล้ามเนื้อบริเวณนั้นด้วยการฝึกอ้าปาก
- สามารถรับประทานยาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่ง เพื่อบรรเทาอาการปวด
- ให้รับประทานอาหารชนิดอ่อนๆประมาณ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด เพื่อจะได้ไม่กระทบกระเทือนต่อแผลในช่องปาก
- สามารถแปรงฟันได้ตามปกติอย่างเบามือ และกลับไปตัดไหมหลังจากที่ผ่าตัดได้ 5-10 วัน
“ฟันคุด” เป็นฟันที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในลักษณะที่ผิดปกติ ดังนั้นควรมีการตรวจสุขภาพช่องปากและฟันเป็นประจำ เมื่อพบอาการผิดปกติใดๆจะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที และในการผ่าตัดรักษาฟันคุดก็ไม่ได้น่ากลัวเกินไป เมื่อเทียบกับโทษที่อาจจะเกิดขึ้นถ้าหากปล่อยเอาไว้ เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคร้ายแล้ว อาจลุกลามสร้างความเสียหายไปยังอวัยวะอื่นได้ด้วยเช่นกัน
สอบถามเพิ่มเติมและตรวจสุขภาพฟัน
โทรศัพท์ 02-0665455 , 092-5187829
Line id: @bpdc หรือ bpdc.dental
https://bpdcdental.com/
ที่อยู่ : คลินิกทันตกรรม BPDC ถนนกิ่งแก้ว บางพลี สมุทรปราการ (มีที่จอดรถใต้ตึก)
#ทันตกรรม #ตรวจสุขภาพฟัน #คลินิกทันตกรรม