แนะวิธีสังเกต เหงือกบวมแบบไหนต้องไปพบทันตแพทย์

แนะวิธีสังเกต เหงือกบวมแบบไหนต้องไปพบทันตแพทย์

แนะวิธีสังเกต เหงือกบวมแบบไหนต้องไปพบทันตแพทย์

หนึ่งในปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบได้บ่อย นอกเหนือจากฟันผุแล้ว ต้องยกให้ “เหงือกบวม” เลยค่ะ หากวันไหนที่ตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าเหงือกของเรามีอาการปูดโปนยื่นออกมา แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า เหงือกบวมแบบไหนถึงต้องไปพบทันตะแพทย์ เชื่อแน่ว่านี่เป็นคำถามที่ค้างคาใจใครหลายคน บทความนี้จะช่วยคุณแนะวิธีสังเกตอาการเหงือกบวมกันค่ะ

เหงือกบวมเป็นอย่างไร

ภาวะเหงือกบวม คืออาการที่เหงือกเกิดการอักเสบเรื้อรัง จนมีลักษณะบวมโตเป็นสีแดงเข้มกว่าเนื้อเหงือกปกติ อาจพบมีเหงือกอักเสบเป็นหนอง, พบรูเปิดของตุ่มหนอง หรือมีของเหลวลักษณะขุ่นข้น ไหลออกมาจากบริเวณขอบเหงือก และเมื่อเหงือกบวมขึ้นก็จะมีอาการปวดฟัน ระคายเคือง เสียวฟัน ไปจนถึงมีอาการเลือดออกขณะแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน ในบางกรณีที่มีเหงือกบวมมาก ๆ เหงือกอาจบวมจนปกคลุมฟันในบริเวณนั้นได้เลยล่ะค่ะ

เหงือกบวมมีแบบไหนบ้าง

  1. เหงือกบวมจากกระดูกงอก

สีเหงือกจะเป็นสีชมพูปกติ อาจจะมีสีขาวซีด ถ้าตุ่มกระดูกนี้ก้อนใหญ่ดันเหงือกออกมามาก ซึ่งอาการบวมนี้เกิดจากกลไกที่ร่างกายสร้างกระดูกให้หนาขึ้น เพื่อรับแรงบดเคี้ยวที่หนักหน่วงไม่เท่ากัน ในแต่ละคน มักจะพบก้อนขนาดใหญ่ในผู้ที่มีฟันสึกกร่อนมาก ๆ

  • เหงือกบวมจากผลข้างเคียงของยา

เหงือกจะบวมหนาขึ้นมากแต่เนื้อแน่น มีสีชมพูปกติ อาการบวมจะมากขึ้น หากสุขภาพช่องปากไม่ดี ทั้งนี้ใครที่เป็นสามารถที่จะหายเป็นปกติเมื่อหยุดการใช้ยาและขูดหินปูน แต่ถ้าไม่หาย ทันตแพทย์จะแนะนำให้ศัลยกรรมตกแต่งเหงือก

  • เหงือกบวมจากภาวะระคายเคืองเป็นเวลานาน

เหงือกบวมแบบนี้จะมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง แต่ยังเป็นสีชมพูปกติ สามารถรักษาได้ด้วยการตัดก้อนที่บวมออก ร่วมกับกำจัดสิ่งที่ทำให้เหงือกเกิดความระคายเคือง

  • เหงือกบวมจากโรคปริทันต์

เหงือกบวมในลักษณะนี้มักจะพบในผู้ที่มีสุขภาพช่องปากไม่ดี ซึ่งจะมีระดับความรุนแรงที่ต่างกัน โดย

แยกออกมาเป็น 2 โรค ได้แก่

  • โรคเหงือกอักเสบ เกิดจากการมีหินปูนมาสะสมจำนวนมากเป็นระยะเวลานาน จนทำให้เหงือกเกิดการอักเสบรอบ ๆ ฟัน ซึ่งอาจจะพบมีอาการเลือดออกขณะแปรงฟันและมีกลิ่นปากร่วมด้วยได้
  • โรคปริทันต์ เกิดจากการสะสมของหินปูนจำนวนมาก แต่ผู้ที่เป็นอาจจะมีภูมิต้านทานเชื้อโรคได้น้อย ทำให้เชื้อเกิดการลุกลามและไปทำลายกระดูกที่รองรับฟัน ซึ่งทำให้มีอาการอย่างฟันโยกเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งฟันอาจจะขยับบานออกหรือยื่นยาวผิดปกติ รวมไปถึงอาการมีหนองไหลจากบริเวณที่เหงือกบวม สำหรับการรักษานั้น ทันตแพทย์จะขูดหินปูน เกลารากฟัน เพื่อกำจัดหินปูนที่ระคายเคืองออก แต่ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นจะต้องหมั่นดูแลรักษาสุขภาพช่องปากให้สะอาดด้วยค่ะ
  • เนื้องอกในหญิงมีครรภ์

สำหรับเหงือกบวมลักษณะนี้จะพบได้ในหญิงมีครรภ์ที่มีสุขอนามัยช่องปากที่ไม่ดี เนื่องมาจากร่างกายจะตอบสนองต่อการระคายเคืองจากหินปูนได้ไวกว่าปกติ ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการตัดออกและขูดหินปูน

  • เหงือกบวมเป็นตุ่มเล็ก ๆ และมีหนองไหล

มักพบอยู่บริเวณในจุดที่ใกล้ฟันผุเป็นหลุมกว้าง หรือเคยมีอาการปวดมาก่อน อันมีสาเหตุมาจากฟันผุที่เกิดการลุกลามถึงชั้นโพรงประสาทฟัน เกิดการติดเชื้อจนฟันตายและมีหนองสะสมในตัวฟันมากจนแตกออกมาในช่องปาก ซึ่งทันตแพทย์มักจะแนะนำให้รักษาคลองรากฟัน

  • ก้อนมะเร็ง

เหงือกบวมที่เกิดจากก้อนมะเร็ง ลักษณะก้อนจะฟูคล้ายดอกกะหล่ำ มีอาการบวมและการทำลายอย่างรวดเร็วรุนแรง ในบางรายอาจจะพบอาการชาร่วมด้วย จึงควรรีบไปพบทันตแพทย์ให้เร็วที่สุด

จะเห็นได้ว่าเหงือกบวมมีมาจากหลายสาเหตุมากเลยนะคะ แต่สิ่งสำคัญที่คล้าย ๆ กัน คือเรื่องของการดูแลรักษาช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ ก็จะลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ และเกิดการอักเสบได้นั่นเอง

สอบถามเพิ่มเติมและนัดหมายทำฟัน ตรวจสุขภาพฟัน
โทรศัพท์ 02-0665455 , 092-5187829
Line id: @bpdc หรือ bpdc.dental
https://bpdcdental.com/
ที่อยู่ : คลินิกทันตกรรม BPDC ถนนกิ่งแก้ว บางพลี สมุทรปราการ (มีที่จอดรถใต้ตึก)

#ทำฟัน #ตรวจสุขภาพฟัน

Comments are closed.