เหงือกบวมแบบไหน ต้องไปพบทันตแพทย์

แนะวิธีสังเกต เหงือกบวมแบบไหน ต้องไปพบทันตแพทย์

หนึ่งในปัญหาช่องปากที่หลายคนไม่อยากเจอ นั่นคือ “เหงือกบวม” ที่นอกจากจะสร้างความเจ็บปวด รำคาญใจแล้ว ยังทำให้เสียความมั่นใจในเรื่องกลิ่นปากอีกด้วย ซึ่งตามปกติแล้ว หากเป็นอาการเหงือกบวมปกติ สามารถทำความสะอาดฟันและเหงือกบริเวณที่เกิดอาการด้วยตนเอง โดยการใช้แปรงสีฟันที่เหมาะสม ใช้ไหมขัดฟันช่วยขัดเศษอาหารที่ติดอยู่ในซอกฟันอย่างถูกวิธี รวมไปถึงการบ้วนน้ำเกลือเพื่อลดอาการบวมแดง แล้วอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ถ้าเกิดมีอาการนอกเหนือจากนี้ล่ะ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เหงือกบวมแบบไหน จึงควรต้องไปพบทันตแพทย์ ไปดูกันค่ะ

1. เหงือกบวม จากกระดูกงอก

สีเหงือกจะมีสีชมพูเป็นปกติ ส่วนอาการบวมนั้นจะเกิดขึ้น เมื่อมีตุ่มกระดูกก้อนใหญ่ดันเหงือกออกมามาก ซึ่งอาการบวมนี้เป็นกลไกทางร่างกายอย่างหนึ่งที่ร่างกายจะสร้างกระดูกให้หนาขึ้น เพื่อรองรับแรงจากการบดเคี้ยวที่ไม่เท่ากัน

2. เหงือกบวม จากการเกิดความระคายเคืองมาเป็นเวลานาน

เหงือกที่บวมจะปูดเป็นก้อนแข็ง แต่ยังคงมีสีชมพูตามปกติ ส่วนการรักษานั้น ทันตแพทย์จะใช้วิธีการตัดก้อนที่บวมออก พร้อมกับกำจัดตัวต้นเหตุที่ทำให้เกิดการระคายเคือง

3. เหงือกบวม จากผลข้างเคียงของยา

เหงือกจะมีลักษณะบวมหนาขึ้นกว่าปกติมาก ผู้ป่วยจะหายปกติหากหยุดยา และขูดหินปูน ถ้าไม่หายอาจต้องศัลยกรรมตัดแต่งเหงือก เพื่อช่วยให้ทำความสะอาดได้ดีขึ้น ในกรณีที่รักษาไม่หาย ทันตแพทย์จะใช้วิธีศัลยกรรมตกแต่งเหงือกเพื่อที่ผู้ป่วยจะได้สามารถทำความสะอาดฟันได้ดีและง่ายขึ้น

4. เหงือกบวม จากโรคปริทันต์

มักพบในผู้ที่สุขอนามัยภายในช่องปากไม่ดี โดยทั่วไปจะแบ่งตัวโรคออกมาเป็น 2 โรค ได้แก่

  • โรคเหงือกอักเสบ เกิดจากการสะสมหินปูนจำนวนมาก ทำให้เหงือกอักเสบบริเวณรอบ ๆ ฟัน ซึ่งในบางครั้งอาจจะพบเลือดออกขณะแปรงฟันได้ รวมถึงมีอาการเสียวฟันและกลิ่นปากตามมา
  • โรคปริทันต์ มีสาเหตุที่คล้ายกันกับโรคเหงือกอักเสบ คือ เกิดจากการสะสมหินปูนจำนวนมาก แต่ผู้ที่เป็นมีภูมิต้านทานเชื้อโรคต่ำ จึงทำให้เกิดการติดเชื้อ และเชื้อก็ลุกลามไปมาก ทำให้เกิดการทำลายกระดูกที่มารองรับฟัน อาการที่สามารถสังเกตได้ คือ ฟันโยก ฟันบานออกหรือฟันยาว เหงือกบวม ในรายที่รุนแรงมาก ๆ จะพบเหงือกมีหนองไหล ส่วนวิธีการรักษานั้น ทันตแพทย์จะขูดหินปูน และจะทำการเกลารากฟัน เพื่อจะกำจัดตัวหินปูน ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการระคายเคืองออก ร่วมกับการดูแลสุขอนามัยภายในช่องปากให้มากขึ้น

5. เหงือกบวม จากเนื้องอกของผู้หญิงตั้งครรภ์

มักพบในผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีสุขอนามัยภายในช่องปากที่ไม่ดี อันมีผลมาจากการที่ร่างกายตอบสนองต่ออาการระคายเคืองจากหินปูนไวกว่าปกติ สำหรับการรักษา ทันตแพทย์จะตัดเนื้องอกนั้นออก แล้วจึงทำการขูดหินปูนในจุดที่ระคายเคืองออกเสีย

6. เหงือกบวม เกิดเป็นตุ่มหนองเล็ก ๆ

มักเกิดในบริเวณใกล้เคียงกับจุดที่ฟันผุมาก ๆ อันเนื่องมาจากภาวะฟันผุที่เกิดการลุกลามไปจนถึงชั้นโพรงประสาทฟัน พบการติดเชื้อจนฟันตายและมีหนองสะสมในตัวฟัน ทำให้ออกมาภายในช่องปาก ในกรณีเช่นนี้ ทันตแพทย์จะแนะนำให้รักษาคลองรากฟัน

7. เหงือกบวม จากก้อนมะเร็ง

ลักษณะของก้อนมะเร็งที่เกิดขึ้นนั้นจะคล้าย ๆ กับดอกกะหล่ำ โดยจะมีอาการบวม และจะทำลายเหงือกรวมถึงฟันโดยรอบอย่างรวดเร็วและรุนแรงมาก ในบางรายอาจจะพบอาการชาภายในช่องปากร่วมด้วย ซึ่งจะต้องมาพบทันตแพทย์ เพื่อรักษาร่วมกับแพทย์เฉพาะทาง

ดังนั้น หากใครที่กำลังมีอาการของเหงือกบวม อย่ารอช้าหรือปล่อยไว้ให้อาการรุนแรงขึ้นนะคะ โดยเฉพาะหากใครมีอาการดังที่กล่าวมา ทางที่ดีที่สุดควรรีบไปพบทันตแพทย์ให้เร็วที่สุด

ติดต่อสอบถามข้อมูล “เหงือกบวม” เพิ่มเติมได้ที่

โทรศัพท์ 02-0665455 , 092-5187829
Line id: @bpdc หรือ bpdc.dental
https://bpdcdental.com/
ที่อยู่ : คลินิกทันตกรรม BPDC ถนนกิ่งแก้ว บางพลี สมุทรปราการ (มีที่จอดรถใต้ตึก)

#ทันตกรรม #ทันตแพทย์ #เหงือกบวม #ปัญหาเหงือก

Comments are closed.