“รักษารากฟัน” คืออะไร มาทำความเข้าใจก่อนเข้ารับการรักษา
รักษารากฟัน คือหนึ่งในวิธีการรักษาปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน ที่เกิดจากสาเหตุเล็กๆ อย่างอาการฟันผุ หรือฟันแตก แล้วผู้ป่วยปล่อยทิ้งไว้ ไม่ทำการรักษาหรืออุดฟัน ทำให้รอยผุของฟันขยายใหญ่ขึ้นและลึกขึ้น รุนแรงจนทะลุไปถึงโพรงประสาทฟัน ส่งผลให้เกิดการอักเสบ บางรายอาจมีฝีที่รากฟัน เป็นหนอง มีอาการปวดทรมาน ที่สำคัญคือเมื่อถึงระยะนี้แล้วเราจะไม่สามารถฟันไว้ได้ด้วยการอุดฟัน แต่ต้องรักษาด้วยการรักษารากฟัน โดยทันตแพทตย์จะทำการกำจัดเนื้อเยื่อมีการติดเชื้อและอักเสบในบริเวณโพรงฟันและคลองรากฟัน รวมไปถึงทำความสะอาดในคลองรากฟันให้ปลอดเชื้อ จากนั้นจึงอุดคลองรากฟันและบูรณะตัวฟันเพื่อให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ
ก่อนเอื่น ต้องอธิบายให้เข้าใจกันก่อนว่า “ฟัน” จะมีองค์ประกอบหลัก 3 ส่วนด้วยกันคือ Enamel, Dentin และ Dental pulp
Enamel หรือ ผิวเคลือบฟัน – ส่วนนี้จะอยู่ด้านนอกสุดและเป็นส่วนที่แข็งแรงที่สุดของฟัน
Dentin หรือ เนื้อฟัน – ส่วนที่อยู่ระหว่างผิวเคลือบฟันกับโพรงประสาทฟัน
Dental pulp หรือ โพรงประสาทฟัน – ส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของฟัน โดยจะประกอบไปด้วยเส้นเลือดและเส้นประสาทจำนวนมากเพื่อนำสารอาหารมาหล่อเลี้ยงฟัน หากเคลือบฟันและเนื้อฟันถูกทำลายจนถึงชั้นโพรงประสาทฟัน ก็จะทำให้เกิดอาการปวดฟันได้
สาเหตุที่ต้องได้รับการรักษารากฟัน
- ฟันผุลึกมากจนทะลุโพรงประสาทฟัน
- ฟันแตกหัก หรือสึกจนทะลุโพรงประสาทฟัน
- ฟันได้รับการแรงกระแทกจากอุบัติเหตุจนทำให้ฟันแตกหัก จนถึงโพรงประสาทฟัน
- ผู้ที่มีปัญหาโรคเหงือก
- ผู้ที่นอนกัดฟันรุนแรง หรือ มีพฤติกรรมการบดเคี้ยวที่ค่อนข้างรุนแรง
อาการ
ลักษณธอาการของซี่ฟันที่ต้องได้รับการรักษารากฟันนั้น สักเกตจากอาการต่อไปนี้
- มีอาการปวดฟันแบบเป็นๆหายๆ หรือปวดรุนแรงจนนอนไม่หลับ
- มีอาการเสียวฟันมากเวลาดื่มของร้อนหรือเย็น
- มีอาการเจ็บฟันเวลาเคี้ยวอาหาร
- มีอาการเหงือกบวม มีตุ่มหนอง หรือมีอาการบวมบริเวณใบหน้า
- ฟันเปลี่ยนสี มีสีคล้ำ
ขั้นตอนการรักษารากฟัน
- การเตรียมตัว
ขั้นตอนแรกทันตแพทย์จะทำการเอกซเรย์ฟันซี่ที่มีปัญหา เพื่อวางแผนการรักษา โดยภาพเอกซเรย์ฟันจะทำให้เห็นความเสียหายของรากฟัน และยังสามารถตรวจสอบว่ามีการติดเชื้อรอบๆ กระดูกบริเวณดังกล่าวหรือไม่
- กำจัดเนื้อฟันที่อักเสบหรือติดเชื้อออก
ทันตแพทย์จะเริ่มขั้นตอนการรักษา ด้วยการใส่ยาชา ใส่แผ่นยางกันน้ำลาย จากนั้นกรอฟันเพื่อเปิดทางขยายโพรงประสาทฟัน และทำการกำจัดเนื้อเยื่อที่มีการติดเชื้อออกด้วยเครื่องมือที่มีขนาดเล็ก และใส่ยาฆ่าเชื้อ ลงไปในคลองรากฟัน
- ปิดรากฟันด้วยวัสดุอุดชั่วคราว
อุดคลองรากฟันเพื่อปิดช่องว่างไม่ให้เชื้อโรคกลับเข้ามา เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ โดยปกติจะใช้เวลาการรักษาประมาณ 2-3 ครั้งขึ้นอยู่กับความยากง่ายและสภาพการติดเชื้อของฟันแต่ละซี่
- อุดปิดคลองรากฟันถาวร
ทันตแพทย์จะอุดปิดคลองรากฟันถาวร เมื่อไม่มีการอักเสบของรากฟันแล้ว
- บูรณะตัวฟัน
การบูรณะตัวฟันเพื่อให้ใช้งานได้ตามปกตินั้นสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การอุดฟัน, การใส่เดือยฟัน, การครอบฟัน ทั้งนี้ทันตแพทย์จะพิจารณาจากสภาพเนื้อฟันที่เหลืออยู่
ระหว่างการรักษา
ช่วงระหว่างการรักษา ผู้ป่วยไม่ควรใช้ฟันซี่ที่รักษาอยู่กัดหรือเคี้ยวอาหารแข็ง เพราะอาจทำให้ฟันแตกหรือหักได้ รวมทั้งอาจพบอาการปวดได้ในช่วง 1-3 วันแรก โดยผู้ป่วยสามารถรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หากอาการไม่ดีขึ้นให้กลับมาพบทันตแพทย์ทันที
การดูแลหลังจากการรักษารากฟัน
การดูแลหลังจากการรักษารากฟันนั้น สามารถดูแลได้เหมือนฟันปกติ โดยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันหลังมื้ออาหาร และก่อนนอน รวมทั้งเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน
นอกเหนือจากการรักษารากฟันแล้วนั้น ยังมีวิธีรักษาอีกวิธีสำหรับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในโพรงประสาทฟัน นั่นก็คือ “การถอนฟัน” แต่การถอนฟันนั้น จะทำให้เราเสียฟันแท้ไป อีกทั้งยังเสี่ยงกับปัญหาช่องว่างระหว่างฟันที่จะทำให้เกิดฟันล้มได้อีกด้วย ดังนั้น หากฟันยังอยู่ในระยะที่สามารรถรักษารากฟันได้ ทันตแพทย์ก็จะแนะนำให้รักษาด้วยวิธีนี้ เพื่อรักษาฟันแท้ของคุณไว้ให้ได้นานที่สุด