“อาการร้อนใน” แผลเล็กๆในช่องปากที่สามารถทำให้เกิดปัญหาใหญ่ๆ และนำมาซึ่งความรำคาญใจให้กับผู้ที่เป็น ทั้งยังสร้างความเจ็บปวด โดยเฉพาะเวลาแปรงฟันหรือรับประทานอาหาร โดยส่วนใหญ่มักพบบริเวณกระพุ้งแก้ม พื้นช่องปากด้านข้างลิ้นหรือใต้ลิ้น และริมฝีปากด้านใน นอกจากนั้น “ร้อนใน” ยังเป็นเหมือนสัญญาณเตือนภัยว่าร่างกายเริ่มไม่ไหว ให้กลับมาดูแลตัวเอง นอกจากนั้น อาการร้อนใน สามารถเกิดขึ้นได้ไม่เลือกเวลา สิ่งที่สำคัญคือการกลับมาดูที่ต้นเหตุเพื่อจะได้รักษาและป้องกันได้ไม่ให้ลุกลามร้ายแรงต่อไป
ร้อนในมีอาการอย่างไร
ร้อนใน หรือแผลร้อนใน (Aphthous Ulcers) เป็นแผลที่มีขนาดเล็กและตื้น มีสีเหลืองหรือสีขาวล้อมรอบด้วยสีแดง เกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากหรือที่เหงือก ในบางรายพบบริเวณด้านในริมฝีปาก แก้มหรือลิ้น ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดเวลารับประทานอาหาร แปรงฟัน หรือการพูดคุยทั่วไป
สาเหตุของอาการร้อนใน
อาการร้อนในสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและหลายปัจจัยกระตุ้นเสริมดังต่อไปนี้
- บุคคลในครอบครัวมีประวัติของการเป็นแผลร้อนใน ซึ่งอาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะผู้หญิงในช่วงห่อนหรือระหว่างมีประจำเดือน
- ความเครียด ความกังวลใจ และการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ
- การขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินบี 12 กรดโฟลิก และธาตุเหล็ก เป็นต้น และการดื่มน้ำน้อยจนเกินไป
- การตอบสนองต่อแบคทีเรียภายในช่องปาก หรือเชื้อไวรัส
- เกิดการบาดเจ็บภายในช่องปาก
- มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- การแพ้อาหาร
- มีแผลกดทับหรือเสียดสีจากฟันปลอมที่หลวมเกินไป หรือเหล็กดัดฟันไม่พอดีกับฟัน
- การกัดกระพุ้งแก้มของตนเอง
อาการร้อนในลักษณะไหนที่ควรไปพบแพทย์
โดยส่วนใหญ่แผลจากอาการร้อนในจะหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ในกรณีที่อาการรุนแรงขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาในแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งอาการดังกล่าว ได้แก่
- แผลร้อนในที่ใหญ่กว่าปกติ
- แผลเดิมยังไม่หาย แต่ก็มีแผลใหม่เกิดขึ้นอีก และมีแผลในช่องปากเกิดขึ้นบ่อยๆ
- เป็นแผลร้อนในนาน 2 สัปดาห์หรือมากกว่า
- แผลที่เกิดจากอาการร้อนในลุกลามไปยังบริเวณริมฝีปาก
- ไม่สามารถรักษาแผลให้ดีขึ้นได้ด้วยตนเอง
- เป็นแผลร้อนในพร้อมกับมีไข้สูง
การรักษาอาการร้อนใน
อาการร้อนในสามารถรักษาได้ทั้งด้วยตนเองและรักษาตามแนวทางทางการแพทย์ ดังต่อไปนี้
การรักษาด้วยตนเอง
ถึงแม้ว่าอาการร้อนในจะสามารถหายเองได้ แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยจะต้องรักษาความสะอาดภายในช่องปากควบคู่กันไปด้วย เช่น กลั้วปากด้วยน้ำเกลือที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน,ควรแปรงฟันโดยใช้แปรงที่มีขนอ่อนนุ่ม และใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียภายในช่องปาก,หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัดเพื่อให้แผลหายได้เร็วขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ยาทาเฉพาะที่เพื่อบรรเทาอาการเจ็บแผลร้อนในได้ เช่น ยาไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide)
การรักษาตามแนวทางทางการแพทย์
ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นแผลร้อนในมานานมากกว่า 2 สัปดาห์ และรักษาด้วยตัวเองแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมาได้ เช่น มีอาการเจ็บและลำบากในการพูดและการรับประทานอาหาร ,มีอาการอ่อนเพลีย,มีไข้ และเกิดการอักเสบของผิวหนังบริเวณข้างเคียง แนะนำไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและทำการรักษาต่อไป โดยส่วนใหญ่แพทย์จะให้ใช้ยาบ้วนปากต้านแบคทีเรีย หรือยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของยาเดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) หรือยาลิโดเคน (Lidocaine) เพื่อลดการอักเสบและความเจ็บปวด ไม่เพียงเท่านั้น แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาประเภทคอร์ติโคสเตอรอยด์ เช่น ยาไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone)ร่วมด้วย
การป้องกันอาการร้อนใน
อาการร้อนใน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สามารถป้องกันได้ เพื่อลดความถี่ในการเกิดแผลร้อนในให้น้อยลงได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้
- การดูแลสุขภาพอนามัยในช่องปาก
การดูแลสุขภาพภายในช่องปากด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ช่วยลดการเกิดอาการร้อนในภายในช่องปากได้ ดังนี้ - แปรงฟันหลังมื้ออาหารเป็นประจำหรือใช้ไหมขัดฟันวันละครั้ง จะทำให้ไม่มีเศษอาหารตกค้างที่อาจกระตุ้นให้เกิดแผลร้อนในขึ้นได้
- บ้วนปากด้วยน้ำเกลือปราศจากเชื้อหลังรับประทานอาหารและก่อนนอน โดยให้เลือกน้ำเกลือที่ฆ่าเชื้อด้วยความร้อน ใส ไม่มีสิ่งเจือปน
- ควรหลีกเลี่ยงยาสีฟันที่มีส่วนผสมของโซเดียม ลอริล ซัลเฟต
- หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร
ให้พยายามเลี่ยงอาหารที่จะทำให้เกิดการระคายเคืองในช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภททอด อาหารรสจัด อาหารรสเปรี้ยวจัดอาหารเค็มจัด หลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ รับประทานผัก ผลไม้หรืออาหารประเภทธัญพืชมากขึ้น งดดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้แผลในปากที่เป็นอยู่มีอาการรุนแรงขึ้นมาได้
“ร้อนใน” นอกจากจะเป็นอาการที่สร้างความรำคาญใจแบบเจ็บแปลบให้กับผู้ที่เป็นแล้ว ยังอาจเป็นอาการที่แสดงถึงโรคอื่นๆตามมาด้วยโรคซีลิแอ็ก (ลำไส้เล็กทำงานผิดปกติ) โรคโครห์น (ทางเดินอาหารอักเสบอย่างรุนแรง) หรือ โรคโลหิตจาง ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยต่อไป และนอกจากนั้น อาการร้อนใน ยังแสดงให้เห็นว่าร่างกายกำลังเหนื่อยล้า จึงเป็นเวลาที่จะหันกลับมาดูแลตัวเองด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่ดีและเพื่ออาการร้อนในเหล่านี้จะไม่มารบกวน
สอบถามเพิ่มเติมและตรวจสุขภาพฟัน
โทรศัพท์ 02-0665455 , 092-5187829
Line id: @bpdc หรือ bpdc.dental
https://bpdcdental.com/
ที่อยู่ : คลินิกทันตกรรม BPDC ถนนกิ่งแก้ว บางพลี สมุทรปราการ (มีที่จอดรถใต้ตึก)
#ทันตกรรม #ตรวจสุขภาพฟัน #คลินิกทันตกรรม